บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด ร่วมกับ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ และ บมจ.ไทยรีประกันชีวิต จัดสัมมนา
Health Insurance Challenges! A Deep Dive into Medical Inflation in Thailand
and Learn How Singapore Tackles Rising Healthcare Costs
บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด (BVTPA) ร่วมกับ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) และ บมจ.ไทยรีประกันชีวิต(THREL) จัดงานสัมมนา “Health Insurance Challenges! A Deep Dive into Medical Inflation in Thailand and Learn How Singapore Tackles Rising Healthcare Costs” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์
โดยงานสัมมนาในครั้งนี้นำเสนอข้อมูล เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย พร้อมเชิญวิทยากรจาก Singapore Life Holdings (Singlife) ร่วมแชร์ประสบการณ์การบริหารจัดการด้านการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนภายในประเทศสิงคโปร์
คุณนันทินี ชินวรรณโณ รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมเบี้ยประกันภัยสุขภาพในประเทศไทย ว่า “ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 เบี้ยประกันสุขภาพภายใต้ประกันชีวิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประกันวินาศภัยเนื่องจากมีการรับประกันภัยโควิด จึงเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2562 – 2564 และหดตัวในช่วงปี 2565-2566 หากตัดเบี้ยประกันภัยโควิดออกจากประกันวินาศภัยพบว่าธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562-2565 แต่ในปี 2566 กลับหดตัวลงร้อยละ 0.4 สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2567 ในส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพภายใต้ประกันชีวิตมีการเติบโตร้อยละ 11.3 ในขณะที่ส่วนของประกันวินาศภัยมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.3”
ด้าน นพ.สุธร ชุตินิยมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ ว่า “การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ ในแต่ละปีมีองค์ประกอบหลายส่วน เช่น ปัจจัยแรก ค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของยาใหม่ๆ หรือ การขาดแคลนวัตถุดิบ ปัจจัยที่สอง ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์รักษาทางการแพทย์ใหม่ๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ปัจจัยที่สาม ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรทางการแพทย์ เงินเดือน และค่าตอบแทนบุคลากร มักเพิ่มขึ้นตามเวลาและความต้องการที่สูงขึ้นของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้จากสถิติการเบิกจ่ายสินไหมทดแทน เฉพาะส่วนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบลูเวนเจอร์ ทีพีเอ พบว่าอัตราค่ารักษาพยาบาล แบบผู้ป่วยใน (IPD) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 มีอัตราสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16.2”
ตารางแสดงค่าเฉลี่ยมูลค่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในแบบมีการผ่าตัดในโรงพาบาลเอกชน (บาทต่อครั้ง)
2564 | 2565 | 2566 | 2567 | %Growth |
47,163 | 50,259 | 52,438 | 60,921 | 16.2% |
“ซึ่งองค์ประกอบด้านราคาค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคอุบัติใหม่ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศที่ส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วย และการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกินความจำเป็น ทำให้การเกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์มีแนวโน้มสูงขึ้น ทางบลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ปี 2568 ในประเทศไทย จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11.3” นพ.สุธร กล่าวเพิ่มเติม
Dr. Warren Ong, Head of Health Services, Singapore Life Holdings กล่าวว่า “ในประเทศสิงค์โปร์ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 4.47 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยร้อยละ 31.17 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถูกจ่ายโดยบุคคลโดยตรงไม่ผ่านการประกันภัยหรือระบบสุขภาพของรัฐ สะท้อนระบบการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือที่กลุ่มคนหรือรัฐจัดให้”
แม้ว่าตัวเลขการเงินด้านการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์จะมีความแข็งแกร่ง แต่ต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพยังคงเป็นปัญหาสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคาดค่ารักษาพยาบาลปี 2567 พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 10 ถึง 13 และบริษัทประกันภัยบางราย อาจมีรายงานค่ารักษาพยาบาลพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ผลจากอัตราเงินเฟ้อด้านการแพทย์ (Medical Inflation) ที่สูงขึ้นในปี 2567 ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยเพื่อรักษา Portfolio โดยบริษัทประกันภัยบางรายมีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์สองหลักขึ้นไป
“รัฐบาลสิงค์โปร์เห็นความสำคัญและพยายามอย่างมากในการรักษาระบบสาธารณสุข มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาคสาธารณะ การปรับนโยบายให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น การฝึกอบรมการแพทย์ครอบครัวที่ได้รับการพัฒนาโดยเน้นที่การดูแลป้องกันและการจัดการกับภาวะที่ซับซ้อน การพัฒนารูปแบบการดูแลทางเลือกเพื่อให้มีทางเลือกในการรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดูแลสุขภาพเบื้องต้นผ่านการเสริมศักยภาพด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น” Dr. Warren กล่าวเสริม
งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และโบรกเกอร์จำนวนมากเข้าร่วมรับฟังซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มในอุตสาหกรรมประกันสุขภาพ รวมทั้งการร่วมกันหาแนวทางในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจประกันภัย ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงภาคประชาชนในประเทศ ผ่านกรณีศึกษาของประเทศสิงค์โปร์ที่มีแนวทางที่น่าสนใจในการนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยต่อไป
ติดตามข้อมูลข่าวสาร กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage : https://www.facebook.com/TPACare
เว็บไซต์: www.BlueVentureTPA.com
Line Official: @TPACare